[รีวิว] ชีวิต Royal Thai Scholars ใน Brewster Academy Summer Program (1st Half)
เนื่องจากครึ่งแรกของ Summer Program จบไปแล้ว จึงเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาเพื่อเล่าประสบการณ์นักเรียนทุนรัฐบาลไทยในสหรัฐอเมริกา เย้! ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลละเอียดพอสมควร บางส่วนที่ไม่สนใจก็ข้าม ๆ ไปได้ตามสารบัญข้างล่างนี้ครับ :D
Table of Contents
ก้าวแรกในอเมริกา — Arrivals and Orientations
เนื่องจากว่าเรามาถึง Brewster Academy ในช่วงเย็น วันแรกก็เลยไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรมาก (ถ้าเป็นประเทศไทยอาจจะมีรับน้อง) ตอนมาถึง จะมีรุ่นพี่ที่แสนน่ารักคอยพาไปกินข้าวที่ Estabrook Hall แล้วเก็บของเข้าหอพัก
รูปหมู่วันแรกหน้าตึก Academic Building
Estabrook Hall — ที่เดียวที่คุณสามารถกินข้าวได้โดยไม่อดอยากตายก่อน
Turf Field สำหรับเล่น soccer พร้อมวิวทะเลสาบสวย ๆ
เช้าวันรุ่งขึ้นก็มีปฐมนิเทศตามแบบฉบับพื้นฐานทั่วไป คือแนะนำครู แนะนำระบบ กฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมช่วงแรกที่ต้องทำก่อนเริ่มเรียนจริง ๆ จัง ๆ ใน Brewster ด้วย ได้แก่การสอบ (Mock) TOEFL เพื่อจัดคลาสเรียน, เปิดบัญชีธนาคาร และกิจกรรม TS Olympics (สันทนาการขำ ๆ เล่น ๆ)
TS62 Olympics
ระเบียบกฎเกณฑ์ของเหล่า TS — Rules and System
เรามาเรียน แน่นอนว่าย่อมมีกฎที่ทุกคนต้องทำตาม สำหรับกฎพื้นฐานอย่างเช่น เข้าเรียนให้ตรงเวลา อย่าโดด อย่าเล่นโทรศัพท์ ฯลฯ ก็คงจะรู้กันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับ Summer Program นี้ มีกฎหรือระบบใหม่ ๆ ที่นักเรียนทุนไทยจะต้องรู้ไว้ ดังนี้
English Promise
กฎที่เป็นหัวใจสำคัญของการใช้ชีวิตใน Summer Program ที่นี่ ถึงแม้ว่านักเรียนทุกคนจะพูดไทยได้ก็ตาม แต่ทางโรงเรียนจะคาดหวังให้พูดภาษาอังกฤษตลอดเวลา (ยกเว้นคุยโทรศํพท์กับทางบ้าน) เพื่อเป็นการฝึกให้พูดคล่องขึ้น ก่อนที่จะไปเครียดใน Prep School ถ้าใครเผลอพูดไทยแล้วโดน TA หรือครูจับได้ก็โดน Demerit กันไป
อยากรู้ว่าโปรแกรมนี้เคร่งกับกฎนี้แค่ไหนก็ดูจากตอนปฐมนิเทศได้ ทุกคนจะต้องเซ็นสัญญาเพื่ออนุญาตให้ทาง Brewster Academy แจ้งความประพฤติไปยังสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในสหรัฐอเมริกา (สนร./OEADC) เพราะฉะนั้น Speak English ซะ
Demerit
Demerit เป็นคำที่ติดปากนักเรียนทุนไทยหลายคน ถ้าเทียบกับโรงเรียนไทยมันก็คือการตัดคะแนนความประพฤติดี ๆ นี่แหละ ซึ่งมีหลายโอกาสให้โดนได้ เช่น เผลอพูดภาษาไทย เข้าเรียน/ร่วมกิจกรรมสาย ไม่ยอม check-in เข้าหอ หรือเผลอพูด F-word แล้ว Mr.A ได้ยินพอดี เป็นต้น ทั้งนี้ ถ้ามั่นใจว่าตัวเองเป็นคนดีพอ ก็ไม่ต้องห่วงเรื่อง Demerit แต่อย่างใด
คนที่ไม่ได้รับ Demerit ในแต่ละสัปดาห์จะได้รับสิทธิ์ในการจับกาชา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ทำดีต่อไป โดยของที่ได้มีตั้งแต่ขนม ปากกา สติ๊กเกอร์โรงเรียน ของเบ็ดเตล็ดเล็กน้อย ๆ แต่คนที่โชคดีก็อาจจะได้ตุ๊กตาที่ทำให้ TS ทุกคนอิจฉาตาร้อนผ่าว
Recognition Scores
ตรงข้ามกับ Demerit ก็คือ Recognition ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นคะแนนการทำดีนั่นเอง คณะครูและ TA จะให้คะแนนเป็นรอบ ๆ (ปกติจะรอบละ 3 สัปดาห์) โดยให้คะแนนในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การตรงต่อเวลา การพูดภาษาอังกฤษ การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน คุณภาพของการบ้าน เป็นต้น ถ้านักเรียนคนใดได้คะแนนเต็ม (หรือเก็บเต็ม) ในทุกวิชาก็จะได้รับสิทธิ On-Status Honors, นักเรียนคนใดที่มีผลงานอยู่ในระดับทั่วไปก็จะได้ On-Status ส่วนคนใดที่พลาดอะไรไปนิดหน่อยก็อาจจะซวยไปอยู่ Off-Status ได้ T_T
คนที่ได้ On-Status จะมีสิทธิพิเศษคือสามารถขอออกไปเที่ยวเล่นในช่วง Study Hall ได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วน On-Status Honors สามารถออกกี่วันก็ได้ ทั้งคู่จะมีสิทธิ์ในการเลือกห้องเรียนที่จะใช้ทำการบ้านได้ หรือจะทำในห้องสมุดก็ได้ แต่ผู้โชคร้ายที่ได้ Off-Status ก็จะโดนบังคับไปอยู่ห้องเดียวกันทุกวัน มี TA คอยเฝ้าอย่างเคร่งครัด (ปกติก็เรียกกันว่าคุก/jail)
หนีโรงเรียนไทยมาเจอโรงเรียน US — Daily Schedule
ตารางแต่ละวันของที่นี่จะจัดใกล้เคียงกับการเรียนใน Prep School พอสมควร มีครบครันตั้งแต่การเรียนการสอนยันกิจกรรมกีฬา Study Hall หนักหน่วงตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์
ตารางเรียนของคลาส Platypuses (นอกจากนี้มีคลาส Echidnas, Bilbies และ Wombats)
Classes
วันจันทร์-ศุกร์จะมีการเรียนการสอนตั้งแต่ 8:00 AM - 12:30 PM โดยมีเรียนทั้งหมด 5 คาบ คาบละ 50 นาที ระหว่างแต่ละคาบมีเวลาให้พัก/เปลี่ยนห้อง 5 นาที หลังจากเรียนเสร็จแล้วก็รับประทานอาหารเที่ยง (ที่ต้องไปวัดดวงกันเอาเองว่าจะอร่อยมั้ย) ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมช่วงบ่าย
Group Meeting
ช่วงบ่ายทุกวันยกเว้นวันพุธ (1:30 PM - 2:30 PM) จะเป็นการประชุม แต่ว่าระดับ/หัวข้อการประชุมก็จะต่างกันไปในแต่ละวัน
- ทุกวันจันทร์จะเป็นการประชุมนักเรียนทุนทั้งหมด (TS62 Group meeting) เพื่อรับทราบข่าวสารต่าง ๆ ว่าด้วยเรื่องกำหนดการ กฎระเบียบ
- วันอังคารกับศุกร์จะเป็น Discussion Group Meeting ซึ่งก็คือการนัดคุยกันภายในกลุ่ม Discussion Group ที่ Brewster จัดไว้ให้ (มีเพื่อนประมาณ 5-6 คน พร้อมด้วย American TA อีกอย่างน้อย 1 คน) เนื้อหาก็เป็นเรื่องจิปาถะทั่วไป เช่นเรื่องวัฒนธรรม ความประพฤติ ฯลฯ
- วันพฤหัสจะเป็น College Visitor ซึ่งตามแผนเดิมแล้ว ควรจะมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้ามาให้ความรู้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็น TA ที่ present เรื่องมหาวิทยาลัยให้ซะมากกว่า ถ้ามีมหาวิทยาลัยเข้ามา ส่วนใหญ่ก็จะมาแย่งตารางวันอื่นแทน เช่น Stanford ที่มาแย่งวันอังคาร (แน่นอนว่าใคร ๆ ก็ยอมเพราะ… Stanford)
TS62 Group Meeting บางรอบจะถือว่าเป็น Spirit Day ด้วย โดยนักเรียนจะต้องแต่งตัวตาม theme ที่กำหนดให้ เช่น แต่งสีเดียวกันทั้งกลุ่ม แต่งเลียนแบบครู/TA เป็นต้น
Spirit Day: Dress like a teacher or TA! (Mr. Lui loves Brewster T-shirt)
Community Service
วันพุธจะเป็นกิจกรรม Community Service ซึ่งแต่ละคนจะได้ไปร่วมต่างกัน ในปีนี้มีตัวเลือกให้ 5 ตัวเลือก ได้แก่
- Genesis Assisted Living เป็นบ้านพักคนชรา ส่วนใหญ่ก็จะไปร่วมคุย เล่นเกม เดิน ฯลฯ
- Sugar Hill Retirement Center บ้านพักคนชราเช่นกัน
- Community Garden ไปช่วยทำสวนของเมือง Wolfeboro ที่ Brewster Academy ตั้งอยู่ ส่วนใหญ่ก็ไปช่วยถอนพวกวัชพืช ปลูกพืช จัดสวนต่าง ๆ
- Humane Society ตัวเลือกที่คนเลือกมากทีสุด (แต่ได้แค่บางคน) ไปเล่นกับหมาแมวสุดแสนน่ารักยาว ๆ
- Children’s Center ไปเล่นกับเด็ก ๆ
แต่ละตัวเลือกอาจจะได้ไปในเวลาต่างกัน ตั้งแต่ช่วง 1:30 PM - 5:30 PM แต่ปกติแล้วจะไปใช้เวลาไม่เกิน 1 ชม. ครึ่ง
Recreational Activities
ช่วงเวลา 4:00 PM - 5:30 PM (ยกเว้นวันพุธ) ทุกคนจะต้องเข้าไปที่ Smith Center (โรงยิมดี ๆ นี่แหละ) เพื่อทำกิจกรรมออกกำลังกายต่าง ๆ ในแต่ละวัน TA จะจัดการกิจกรรมให้ บางวันก็เล่น Basketball, Chairball, Volleyball, Soccer หรือไม่ก็พวกเกม/กีฬาที่เราไม่ค่อยได้เห็นในไทย เช่น Frisbee, Dodgeball, Baseball เป็นต้น บางวัน TA ก็จะอนุญาตให้เลือกกิจกรรมเอง ซึ่งอาจจะขึ้นไปใช้ Fitness ข้างบนให้ มีอุปกรณ์ให้ครบครัน (ลู่วิ่ง, weight, ฯลฯ) นาน ๆ ครั้งก็จะได้แวะไปเล่นสนุก ๆ ที่ Brewster Beach
Brewster Beach
Study Hall
วันจันทร์ถึงพฤหัส เวลา 7:00 PM - 9:30 PM ทางโรงเรียนจะบังคับให้ทุกคนมารวมกัน แยกกันไปตามห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนแต่ละคนได้มีสมาธิในการทำการบ้าน/อ่านหนังสือ ทั้งนี้ เวลา 7:00 PM - 7:30 PM จะเก็บไว้ให้สำหรับทำ Culture Journal (จะอธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อ Academics) ทั้งนี้ คนที่ได้รับสิทธิ์ On-Status สามารถขอออกไปเที่ยวเล่นได้สัปดาห์ละหนึ่งวันโดยไม่ต้องเข้า Study Hall ส่วน On-Status Honors สามารถออกได้ทุกวัน (แต่ต้องมาทำ Culture Journal ให้เสร็จก่อน)
Movie Night
คืนวันศุกร์ แทนที่จะเป็น Study Hall ก็จะเปลี่ยนเป็นการดูหนังแทน ก็พึ่งดวงกันเอาเองว่า Chris Brown (ผู้ดูแลโปรแกรมนี้) จะเลือกหนังมาให้ดีขนาดไหน (แต่ส่วนใหญ่ก็จะหนังดีหมดนะ :o)
Weekend Schedule
วันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอย เพราะสามารถดองการบ้านไว้ถึงคืนวันอาทิตย์ ปกติแล้วจะไม่มีกำหนดการบังคับให้ทำอะไร แต่ว่านักเรียนที่สนใจสามารถไปร่วมทำอย่างอื่นได้ บางสัปดาห์ก็มีพาไปพายเรือ canoe, ไปฝึก rock climbing, ไปเที่ยวนู่นเที่ยวนี่, ซ้อมดนตรี, ซ้อมกีฬา และอื่น ๆ อีกมากมาย
Canoeing
เนื้อหาวิชาที่เรียน — Academics
ในช่วง section แรก หลักสูตรที่เรียนจะออกแบบมาเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ มี 5 วิชา ได้แก่ Reading, TOEFL Prep, Writing, US Culture และ Communications
Reading
ปีนี้สอนโดย Lucas Morel (Luke) ซึ่งเป็นครูที่นักเรียนหลายคนค่อนข้างจะชอบ (“That’s a good one!”) เนื่องจากว่าเรียนง่ายมาก การบ้านน้อย ชีวิตดี๊ดี
ตามชื่อวิชา วิชานี้จะเน้นว่าด้วยเรื่องการอ่าน นักเรียนจะได้อ่านหลายอย่าง ตั้งแต่บทความทั่วไป, speech การเมือง ยันบทกวี Shakesphere ที่ทำให้ปวดหัว การบ้านส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการอ่าน เพื่อที่จะมา discuss กันในคาบเรียน (คุยกันเรื่อง vocabulary, การตีความ, เทคนิค ฯลฯ) ทั้งนี้ก็มีบางครั้งที่จะต้องเขียน response แสดงความคิดเห็นต่อบทความที่อ่าน
ในสัปดาห์สุดท้ายจะมีการ debate ในหัวข้อที่คลาสตกลงกันเอง โดย Lucas จะจัดหาเนื้อหามาให้อ่านตามหัวข้อที่เลือกไว้
Reading Class โดย Lucas Morel: “That’s a good one!”
TOEFL Prep
ปีนี้สอนโดย Yu Lui (Mr. Lui) ตามชื่อ วิชานี้จะเน้นการทำความรู้จักกับข้อสอบ TOEFL อย่างลึก พร้อมฝึกทำโจทย์ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ Reading, Listening, Speaking และ Writing เพื่อให้นักเรียนที่สนใจไปสอบ TOEFL ใหม่ได้คะแนนสวย ๆ ปกติแล้ววิชานี้มีการบ้านทุกวัน ฝึกทำโจทย์ตาม section ต่าง ๆ บางวันก็ได้ reading บางวันก็ได้ speaking แต่โดยรวมแล้วจะใช้เวลาไม่เกินวันละ 30 นาที
จุดเด่นของ class นี้คือ Friday Fun Day ตอนวันศุกร์ แทนที่จะเป็นการเรียนก็จะเป็นการแข่งขันหลายรูปแบบ ตั้งแต่ตอบคำถาม Kahoot! ยัน spelling bee เพื่อแย่งชิง TS Cash หน่วยเงินอันมีมูลค่าสูงสุดสำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลไทย
TOEFL Prep Class โดย Yu Lui: “I feel this way for two reasons.”
Writing
Elizabeth Preysner (Liz) เป็นผู้สอน วิชานี้เป็นวิชาที่การบ้านหนักที่สุด หลังสองสัปดาห์แรกไป เราจะต้องเขียน essay ความยาว 4-5 หน้า (ประมาณ 1200-1500 คำ) ทุกสัปดาห์ โดยมีรูปแบบได้แก่ Rhetorical Analysis, Compare and Contrast, Expository Essay, ฯลฯ
สำหรับนักเรียน TS ส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่วิชานี้สอนไม่ใช่การเขียน แต่คือการจัดการเวลา และการใช้ชีวิตโดยไม่นอนหลับ แน่นอนว่าชีวิตตอนอยู่ Prep School อาจจะลำบากกว่านี้ T_T
Writing Class โดย Elizabeth Preysner: “So what?”
US Culture
สำหรับวิชานี้ สอนโดย Vince Alvelo (Mr. A) จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่จะได้พบเจอในสหรัฐอเมริกา รวมถึงประวัติศาสตร์ชาติอเมริกาที่ควรรู้
ในช่วง Study Hall ของแต่ละวัน นักเรียนจะต้องเขียน Culture Journal เพื่อเป็นการ reflect เล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าชีวิตที่ผ่านมาใน Brewster Academy เป็นอย่างไรบ้าง แต่ละวันจะมีโจทย์หัวข้อมาให้เขียนต่างกัน ทั้งนี้ การเขียนไม่จำเป็นต้องทางการมากก็ได้ เพราะคนที่ตรวจคือ American TA ใน Discussion Group ของแต่ละคน ส่วนนี้ช่วยให้ได้ฝึกเขียนเยอะพอสมควร รวมถึงทวนคิดชีวิตที่แสนจะสวยงามใน Brewster~
US Culture Class โดย Captain America เอ้ย Vince Alvelo
Communications
สอนโดย Kaly Sphilaus วิชานี้ค่อนข้างจะสนุกสนาน ด้วยความที่ตัวเนื้อหาค่อนข้างเน้นให้นักเรียนพูดคุยกัน บางวันก็ถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย
จุดเด่นของวิชานี้คือ Harkness Discussion ที่จะมีทุกสัปดาห์ โดยคาบเรียนที่มี Harkness Discussion คุณครูจะไม่พูดแม้แต่คำเดียว นักเรียนจะต้องเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายในหัวข้อ/เนื้อหาที่ครูกำหนดให้ทั้งหมด ถ้าเป็นที่ไทยระบบนี้อาจจะดูแปลก ๆ หน่อย แต่ในสหรัฐอเมริกา หลาย Prep School (โดยเฉพาะ Philips Exeter Academy) โปรดปรานวิธีนี้เป็นอย่างมาก เพราะทำให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพูดคุย และต้องมีความเข้าใจในเนื้อหาอย่างแท้จริง
Communications Class โดย Kaly Sphilaus เทพแห่ง Scattergories
นอกจากนี้ ยังมีอีเวนท์สำคัญคือ TS Talk ทุกวันอาทิตย์ โดยทุกคนจะได้ขึ้นพูดเกี่ยวกับเนื้อหาที่อยากจะพูด รูปแบบคล้าย ๆ TED Talk แน่นอนว่าอีเวนท์นี้ดูดเวลานอนเป็นอย่างมาก แต่หลังพูดจบแล้วเชื่อว่าทุกคนก็คงจะรู้สึกโล่งอกไม่แพ้กัน
TS Talk โดย Waan เจ้าแห่ง Bottle Flipping
ชีวิตเด็กหอ — Dormitory Life
ในปีนี้ก็จัดหอพักไว้ให้ 3 หอพัก (ใกล้ ๆ กัน) ได้แก่ Sargent Hall ซึ่งเป็นหอพักที่ใหญ่ที่สุด สำหรับนักเรียนชาย ส่วนที่เหลือก็จะมี Brown และ Hughes สำหรับนักเรียนหญิง คุณภาพของหอพักไม่ใช่ประเด็นที่ต้องห่วงเป็นอย่างใด เพราะห้องจัดมาให้อย่างดี มีเตียง โต๊ะ เก้าอี้ ตู้เสื้อผ้า บลา ๆ ตามแบบฉบับหอพักทั่วไป ปกติก็จะอยู่กันห้องละ 2 คน ห้องน้ำไม่มีแยกให้แต่ละห้อง จะมีอยู่เป็นชั้น ๆ ไป
ตัวอย่างห้องพักในหอ Sargent ที่อุตส่าห์ลงทุนถ่ายมาให้
ว่าด้วยเรื่องการซักผ้า เนื่องจากว่าตารางเรียนที่นี่ค่อนข้างโหดพอสมควร ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะได้ซักผ้าแค่สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น (ว่าง ๆ ตอนวันเสาร์อาทิตย์) โดยทางโรงเรียนได้จัดตู้ซักผ้าและตู้อบผ้าไว้ให้ใน Estabrook Hall (เดินไกลมาาาก) ซักผ้าทีนึงรวม ๆ แล้วก็ $3.25 หรือประมาณ 100 กว่าบาท (ซักผ้า $1.75 + อบผ้า $1.50)
ในแต่ละชั้นของหอพักจะมีห้อง Lounge (หรือเรียกว่า Common Room) ไว้ให้สำหรับพบปะสังสรรค์ ตั้งแต่คุยการบ้าน อู้งาน เล่นดนตรี เล่นบอร์ดเกม จัดปาร์ตี้ต้มมาม่า เผาเวฟปอปคอร์น บลา ๆ ถึงอย่างไรก็ตาม ในแต่ละวันทุกคนจะต้องกลับห้องก่อนเวลา 11:30 PM เพื่อป้องกันไม่ให้หลับดึกเกินไป (ยกเว้นคืนวันศุกร์กับวันเสาร์ปาร์ตี้ได้เต็มที่)
Lounge ในหอพักสำหรับพบปะสังสรรค์ รวมถึงไว้บอกลา TA ที่จะออกไปด้วย T_T
ทุกคืนวันพุธและวันอาทิตย์จะมีการตรวจห้อง (Room Inspection) เพื่อรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด วิธีการผ่านการตรวจก็ไม่มีอะไรมาก จัดเตียงให้เรียบร้อย อย่าให้โต๊ะรก เอาขยะไปทิ้ง ตามวิถีผู้ดีทั่วไป นอกจากนี้ทุกสัปดาห์จะมีการจัดเวรให้แต่ละคนดูแลความสะอาดโดยรวมของหอพัก (Dorm Chores) ตั้งแต่ทำความสะอาดห้องน้ำ ทำความสะอาด Lounge ดูดฝุ่น ว่ากันไป
เที่ยว/กิจกรรมพิเศษ — Special Trips/Events
Outlet Mall & Restaurant (June 22-23)
เป็นทริปเพื่ออกไปเที่ยวร่วมกับ Discussion Group ของตนเอง (บางกลุ่มไปวันเสาร์ บางกลุ่มไปวันอาทิตย์) โดยไปเดินหาซื้อของเล่น ๆ และก็พากินข้าวในร้านอาหาร เป้าหมายของทริปครั้งนี้หลัก ๆ คือการทำให้นักเรียนคุ้นเคยกับการให้ tip ในร้านอาหาร
จงให้คะแนน Uno Pizzeria & Grill
Browne Center Trip (June 24th)
เมื่อรถไปจอดถึงแว็บแรก นักเรียนหลายคนถึงกับงง จากเดิมที่คิดไว้ว่าเป็นศูนย์อะไรสักอย่าง กับกลายเป็นพื้นที่ป่ากว้าง ๆ ซะได้ โดยที่นี่มี staff คอยจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ เป็นแนว ๆ พวกผจญภัย ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นทีม สนุกสนานในระดับหนึ่ง แต่ก็คงเทียบไม่ติดกับค่าย รด. ในไทย
วัดใจที่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร เอ้ย ศูนย์น้ำตาล-e (Browne Center)
Mock Thanksgiving Day (June 27th)
Thanksgiving Day โดยทั่วไปแล้วจะเฉลิมฉลองตอนเย็นวันพฤหัส สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี โดยรับประทานอาหารร่วมกัน (จำพวกไก่งวง, mashed potato, ฯลฯ) ถ้าไม่ได้เฉลิมฉลองกันในครอบครัว ปกติแล้วก็จะต้องใส่สูททางการเป็นมารยาท ประวัติศาสตร์ดั้งเดิมคือการเฉลิมฉลองของพวก Pilgrim ช่วงเทศกาลเก็บเกี่ยว ขอบคุณพระเจ้าที่ประทานพรให้มา ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนไทยคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของ US ทาง Brewster ก็เลยจัด Mock Thanksgiving Day ขึ้นมาเฉลิมฉลองกันเล่น ๆ
ตามปกติแล้วการรับประทานอาหารก็ไม่ควรใช้เวลาเกินครึ่งชั่วโมง แต่ตามปกติของนักเรียนทุนไทยก็คงไม่พ้นการถ่ายรูปรัว ๆ หลังจบงานอีกชั่วโมงเต็ม ๆ
Thanksgiving Meals (Turkey, Mashed Potato, Beans, etc.)
รูปหมู่ที่นักเรียนไทยทุกคนรอคอย
Boston Trip & MIT Visit (June 29th)
ทริปไกลที่สุดจาก Brewster Academy เท่าที่เคยมีมา มีตัวเลือกให้ไปเที่ยวในเมือง Boston หลายที่ เช่น Harvard University, Public Library, Chinatown, Quincy Market, อนุสาวรีย์ต่าง ๆ, ฯลฯ โดยไปเที่ยวกันตามที่ตกลงใน Discussion Group ของตนเอง ส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือช่วงบ่ายที่แวะมาส่องแคมปัสมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกอย่าง Massachusetts Institute of Technology (MIT) โดยมีรุ่นพี่พาทัวร์ดูตึกดูห้องต่าง ๆ
China Town ใน Boston
มหาวิทยาลัยในตำนาน
Independence Day (July 4th)
4 กรกฎาคมเป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกา เป็นวันที่อเมริกาประกาศเอกราชตัดขาดจากอังกฤษ ทุก ๆ ปีคนก็จะมาเฉลิมฉลองกันโดยตอนกลางวันจะมีขบวน parade ส่วนกลางคืนมีพลุสวย ๆ ให้ดู
อนึ่ง รูปแบบขบวนที่นี่ค่อนข้างจะต่างจากไทยพอสมควร ในไทยส่วนใหญ่แล้วขบวนจะเน้นความสวยงาม ทั้งชุดทั้งพร็อพ รถจัดตกแต่งเต็มที่ แต่ที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นขบวนรถแปลก ๆ ของแต่ละหน่วยงานมากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นการเฉลิมฉลองการมีส่วนร่วมของแต่ละคน แต่ละหน่วยงาน ที่ช่วยสร้างชาติขึ้นมา บลา ๆ ไม่รู้จะแถยังไงละ T_T
พาเรดวัน Independence Day
Fireworks!
Thai Culture Night (July 9th)
ใน Brewster Academy ไม่ได้มีเพียงแค่ Royal Thai Scholars เท่านั้น แต่มีนักเรียนจาก summer program อื่น ๆ อีกด้วย ดังนั้น ในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ทุกปีเราจะต้องจัดงานเพื่อแสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้ผู้อื่นเห็น สำหรับปีนี้ TS62 เลือกแสดงละครเรื่องสี่แผ่นดิน (Four Reigns) เป็นภาษาอังกฤษ (เลือกมาแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้าให้แสดงหมดคงไม่ไหว) รวมถึงแสดงการรำไทย (Thai Dance) ด้วย
แน่นอนว่าหลังจบงานก็ถ่ายรูปกันอีกชั่วโมงนึง :D
ช่วงหนึ่งของการแสดงละครเรื่อง Four Reigns
รูปกลุ่ม (อีกแล้ว) เนื่องในโอกาส Thai Culture Night
Boston University Visit (July 15th)
มา Boston อีกเช่นเคย แต่ครั้งนี้เรามี Tour Guide คอยพาทัวร์ดู Boston University พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับมหาลัยนี้โดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้มองมหาลัยนี้มาก่อน (หรืออาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเลยก็ตาม) มาทัวร์ที่นี่ก็ทำให้ TS62 หลายคนได้รู้จักว่ามหาลัยแต่ละที่ใน US ต่างกันยังไง ข้อเสีย (เอาจริง ๆ ก็ข้อดีแหละ) อย่างหนึ่งคือต้องจดโน้ตส่งให้ครูตรวจด้วยจ้า
Soccer Game Against ADIA (July 16th)
ทุก ๆ ปี Thai Scholars เราจะถูกกลุ่ม ADIA (Abu Dhabi Investment Authority) ท้าแข่ง soccer เสมอ เนื่องจากว่าการแข่งครั้งนี้ถือเป็นการแข่งขันที่มีศักดิ์ศรีเป็นเดิมพัน ทีม soccer ของเราทุกคนจะต้องผ่านการฝึกซ้อมจาก P’Johm นักเรียนทุนกองทัพฯ O_O” ถึงแม้ว่าปีนี้ผลการแข่งขันจะไม่ได้ออกมาดีมาก แต่อย่างน้อยทีมเชียร์เราก็ชนะล่ะวะ T_T
นักเตะทีมชาติไทย O_O
ทีมเชียร์ที่แสนภาคภูมิใจ
Heated Match
ชีวิตต่อไปจะเป็นอย่างไร — Looking Forward
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จาก Newsletter ที่เขียนโดยนักเรียน TS62 ทุกสัปดาห์ ตามลิงค์นี้ครับ: Week 1 | Week 2 | Week 3 | Boston Trip | Week 4 | Week 5 | Week 6
ครึ่งแรกของ Brewster Academy ก็ได้จบไปแล้ว หลังจากนี้ตารางเรียนก็จะเปลี่ยน แทนที่จะเป็นวิชาแนว ๆ ภาษาอังกฤษ ก็จะเปลี่ยนมาเน้นพวกการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยแทน (College Guidance, College Essay เป็นต้น) นอกจากการเรียนตามปกติแล้ว ครึ่งหลัง นักเรียน TS จะมีโอกาสได้ไปทัวร์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มีอะไรเป็นอย่างไรบ้างไว้มาอัพเดทในบล็อกถัดไปละกันครับ :D (ถ้าไม่ขี้เกียจนะ)
Spoiler สำหรับบล็อกรีวิว 2nd Half:
Visiting Bowdoin College
Hiking on some mountains
Thai Feast: When you miss Thai foods