การเตรียมเอกสารสำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ระดับมัธยมศึกษา (ภายใต้การดูแลของสำนักงาน ก.พ.)
หลังจากประกาศรายชื่อนักเรียนที่ได้รับทุนต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย (ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯลฯ) เพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาตรี (หรืออาจจะมีปริญญาโท-เอกด้วย) เชื่อว่าคนที่ติดคงจะดีใจไม่มากก็น้อย แต่หลังจากนั้น เราจะต้องจัดการเรื่องเอกสารต่าง ๆ มากมายซึ่งอาจจะทำให้การรับทุนไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ไม่ว่าจะเอกสารไม่ครบ ตรวจสุขภาพแบบฟอร์มไม่สวยงามตามแบบฉบับที่ ก.พ. ต้องการ หรืออะไรก็แล้วแต่
เพื่อเป็นแนวทางให้กับรุ่นน้องปีถัด ๆ ไป จึงขอแปะบทความนี้ไว้เพื่อเป็นตัวช่วยรุ่นน้องที่จะรับทุนให้สามารถวางแผนการจัดการงานได้ราบรื่นที่สุดครับ อนึ่ง เอกสารบางส่วนที่จะพูดถึงจะมีเฉพาะนักเรียนที่รับทุนไปประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ประเทศอื่นจะใช้เอกสารต่างกัน แต่เชื่อว่ามีแนวทางคล้าย ๆ กันครับ
บทความนี้เขียนขึ้นตามประสบการณ์ของผมเองเท่านั้น ข้อมูลบางส่วนอาจผิดพลาดหรือไม่สามารถใช้ได้ในปีถัดไป ขอให้ตรวจสอบและปฏิบัติตามแนวทางที่ต้นสังกัดทุนหรือ ก.พ. กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
Table of Contents
ช่วงเวลากิจกรรม และรายการเอกสารที่ต้องเตรียม
หลังจากนักเรียนได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียนทุนจากต้นสังกัดทุนแล้ว ทาง ก.พ. จะเป็นผู้ดูแลจัดการเรื่องการส่งนักเรียนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ จะมีการจัดกิจกรรมปฐมนิเทศ รวมถึงจัดการเอกสารต่าง ๆ โดยมีช่วงเวลาคร่าว ๆ ตามนี้ครับ (บางทุนอาจจะจัดการบางส่วนเสร็จสิ้นไปก่อนแล้ว เช่น การเซ็นสัญญาทุน)
ช่วงเวลา | รายการ |
---|---|
กลาง มี.ค. | ปฐมนิเทศทุนระดับมัธยมศึกษา จัดการเรื่องเอกสาร (เซ็นสัญญา, ตรวจสุขภาพ, ใบสมัคร ฯลฯ) |
ปลาย มี.ค. - ต้น เม.ย. |
ส่งเอกสารให้ทาง ก.พ. โดยตรง (อาจไม่รับส่งเอกสารทางไปรษณีย์) |
พ.ค. | สัมภาษณ์วีซ่า ร่วมกิจกรรม Pre-departure ก่อนเดินทาง |
มิ.ย.-ก.ค. | เดินทางไปศึกษาที่ต่างประเทศ |
โดยเอกสารสำคัญที่จะต้องนำส่งให้ ก.พ. เพื่อสมัครเรียนต่อในต่างประเทศ หลัก ๆ แล้วก็จะมีดังนี้
- เอกสารทางการแพทย์ (ผลตรวจสุขภาพ การฉีดวัคซีน ฯลฯ)
- ผลคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ (TOEFL, IELTS) และคะแนนข้อสอบ admission (เช่น SAT/ACT ในประเทศสหรัฐอเมริกา)
- แบบสมัครเข้าเรียนต่อ Prep School และ Transcript ม.3-ม.6
- เอกสารอื่น ๆ (สำเนาบัตรประชาชน แบบกรอกข้อมูลเบื้องต้น ฯลฯ ขอไม่กล่าวถึง ณ ที่นี้)
เอกสารทุกฉบับจะต้องเป็นภาษาอังกฤษ (เว้นแต่ ก.พ. จะแจ้งเป็นอย่างอื่น) นอกจากนี้ สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา การระบุวันที่ในแบบฟอร์มควรเป็น mm/dd/YYYY (เดือน/วัน/ปี) ถ้าเป็นไปได้ (โดยเฉพาะ Immunization Record) เว้นแต่เป็นแบบฟอร์มที่ปรินท์จากระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้และไม่ได้ระบุรูปแบบวันที่ เช่น ใบรับรองแพทย์ของทางโรงพยาบาล ให้แพทย์เขียนรูปแบบวันที่ (dd/mm/YYYY) หรือเขียนวันที่เป็นภาษาอังกฤษ (เช่น Apr 4, 2019) พร้อมเซ็นกำกับไว้
การตรวจสุขภาพ
การตรวจสุขภาพกาย-สุขภาพจิตโดยคณะกรรมการแพทย์ของ ก.พ.
นักเรียนที่จะรับทุนจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิตโดยสถานพยาบาลของคณะกรรมการแพทย์ของ ก.พ. (เช่น โรงพยาบาลศิริราช) ซึ่งรายการโรงพยาบาลที่สามารถไปตรวจได้ทางต้นสังกัดทุนหรือ ก.พ. จะแจ้งให้เอง
การตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิตอาจจะตรวจในโรงพยาบาลเดียวกันหรือต่างกัน อาจตรวจวันเดียวหรือหลายวัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละโรงพยาบาลมีหลักเกณฑ์อย่างไร ให้ติดต่อสอบถามทางโรงพยาบาลแล้วรีบนัดทางโรงพยาบาลทันที เพราะคิวทางโรงพยาบาลค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่จะต้องนัดล่วงหน้าเป็นเดือน
ทั้งนี้ จะมีแบบฟอร์ม Medical Certificate/Mental Health Examination ของ ก.พ. (โหลดได้ที่เว็บไซต์ของ ก.พ.) ที่จะต้องนำให้โรงพยาบาลที่ไปตรวจด้วย สำหรับนักเรียนที่จะศึกษาต่อประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีแบบฟอร์มเพิ่มเติมที่ควรนำไปด้วย เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องเอกสารที่จะเกิดขึ้นภายหลัง (อ่านในหัวข้อถัดไป)
แบบฟอร์มตรวจสุขภาพของโรงเรียนที่จะศึกษา
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา นักเรียนจะได้เข้าเรียน Summer Program ที่ Brewster Academy ดังนั้นจึงมีแบบฟอร์มตรวจสุขภาพเพิ่มเติมที่ ก.พ. จะแจกแบบฟอร์มในวันปฐมนิเทศทุน
ต่อจากนี้จะขอเรียกแบบฟอร์มตรวจสุขภาพกาย-สุขภาพจิตของ ก.พ. (ที่ใช้ในการรับทุนก่อนหน้านี้) ว่า “แบบฟอร์ม ก.พ.” และแบบฟอร์มของทางโรงเรียน Brewster Academy ในสหรัฐอเมริกาว่า “แบบฟอร์ม Brewster” ครับ
แบบฟอร์มตรวจสุขภาพของ Brewster Academy (ลิงค์นี้เป็นของนักเรียนทุนปี 2019 ปีถัดไปอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ควรตรวจสอบ) จะมีเนื้อหาคร่าว ๆ ดังนี้
-
Medical History เนื้อหาจะเหมือนกับแบบฟอร์ม ก.พ. แทบทุกอย่าง แต่จะมีเนื้อหาให้กรอกเพิ่มเติมบางส่วน กรอกและเซ็นรับรองโดยนักเรียนเอง (หรืออาจจะนำไปกรอกตอนตรวจสุขภาพกายก็ได้)
-
Brewster Medical Authorization Form เป็นแบบฟอร์มสำหรับผู้ปกครองเซ็นยินยอมให้ทางโรงเรียนดูแลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
- Physical Examination เนื้อหาจะเหมือนกับแบบฟอร์ม ก.พ. แทบทุกอย่าง แต่จะมีส่วนให้กรอกข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจวัณโรคด้วย skin test ซึ่งถ้าไม่เคยตรวจ สามารถเว้นไว้แล้วแนบผลการตรวจทีหลังก็ได้ ทั้งนี้ ส่วนนี้เป็นส่วนที่มีปัญหามากสุด ดังนี้
- ก.พ. จะแจกแบบฟอร์มนี้ให้ในวันปฐมนิเทศทุน
- นักเรียนส่วนใหญ่จะได้รับแบบฟอร์มนี้หลังตรวจสุขภาพ ก.พ. เสร็จ ทำให้จำเป็นจะต้องนำเอกสารนี้ไปให้ทางโรงพยาบาลเซ็นรับรองอีกครั้ง ในกรณีแย่สุด ทางโรงพยาบาลอาจจะไม่เซ็นรับรองให้ และจำเป็นต้องตรวจสุขภาพใหม่ ทั้งนี้ ให้สอบถามทาง ก.พ. ก่อนว่าจะอนุญาตให้ใช้แบบฟอร์มของ ก.พ. ได้หรือไม่ หากได้ก็ไม่จำเป็นต้องนำแบบฟอร์ม Brewster ไปเซ็นรับรอง
- ถ้าได้รับแบบฟอร์มนี้พร้อมกับแบบฟอร์มของ ก.พ. ตอนตรวจสุขภาพสามารถนำแบบฟอร์มทั้งสองแบบไปกรอกพร้อมกันได้เลย
- นักเรียนที่ได้รับแบบฟอร์มของ ก.พ. แต่ไม่ได้รับแบบฟอร์มนี้ แนะนำให้ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม Brewster นี้ แล้วนำไปกรอกตอนตรวจสุขภาพพร้อมกับแบบฟอร์ม ก.พ. จะได้ป้องกันปัญหาที่จะต้องไปขอให้ทางโรงพยาบาลกรอกและเซ็นรับรองให้ใหม่ (เว้นแต่ว่าแบบฟอร์ม Brewster ปีถัดไปเปลี่ยนรูปแบบ อาจจะใช้ไม่ได้ แต่ก็ถือว่าป้องกันไว้ก่อนละกันครับ)
- Immunization Record เป็นแบบฟอร์มบันทึกการฉีดวัคซีน ซึ่งจะต้องให้โรงพยาบาลเซ็นรับรองให้ครบตามที่ระบุ (โรงพยาบาลรัฐบาลหรือเอกชนก็ได้)
- ควรหาสมุดวัคซีนให้เจอ เพื่อให้สะดวกต่อการเซ็นรับรองการฉีดวัคซีน หากทำหายอาจจะต้องค้นประวัติจากโรงพยาบาลที่ฉีด หากไม่มีประวัติ อาจจะต้องฉีดวัคซีนหลายอย่างซ้ำ
- หากฉีดวัคซีนไม่ครบ อาจจะขอให้ทางโรงพยาบาลเซ็นรับรองให้เท่าที่มีก่อนก็ได้ เมื่อฉีดเพิ่มเติมก็ให้ปรินท์แบบฟอร์มใหม่ไปให้โรงพยาบาลกรอกเพิ่มเติมจนกว่าจะฉีดครบ (หรืออาจจะแนบใบรับรองการฉีดวัคซีนต่อท้ายแบบฟอร์มเก่าก็ได้)
- รายละเอียดการฉีดวัคซีนจะอยู่ในหัวข้อถัดไป
- Medication Form เป็นรายงานการใช้ยาประจำตัวของนักเรียน เพื่อให้ทางโรงเรียนดูแลต่อไป ให้ทางโรงพยาบาลเซ็นรับรองแม้ว่าจะมียาหรือไม่มีก็ตาม (โรงพยาบาลรัฐบาลหรือเอกชนก็ได้)
รายละเอียดการฉีดวัคซีนและตรวจวัณโรค
สำหรับนักเรียนที่จะศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา จะต้องฉีดวัคซีนและตรวจวัณโรคตามแบบฟอร์มของ Brewster ดังนี้
- Polio (โปลิโอ) ฉีดอย่างน้อย 3 เข็มโดยเข็มสุดท้ายต้องฉีดหลังอายุ 4 ขวบ หรือฉีดอย่างน้อย 4 เข็ม
- DPT (คอตีบ, ไอกรน, บาดทะยัก) ฉีดอย่างน้อย 4 เข็ม โดยจะต้องมีอย่างน้อย 1 เข็มที่ฉีดหลังอายุ 4 ขวบ
- Hepatitis B (ไวรัสตับอักเสบบี) ฉีด 3 เข็ม สองเข็มแรกเว้นห่างกันอย่างน้อย 30 วัน
- Tdap Booster (ฉีดกระตุ้นป้องกันคอตีบ, ไอกรน, บาดทะยัก) ฉีดกระตุ้น 1 เข็มหลังอายุ 11 ปี
- MMR (หัด, คางทูม, หัดเยอรมัน) ฉีด 2 เข็มโดยเข็มแรกต้องฉีดหลังอายุ 1 ขวบ หรือฉีด 3 เข็ม
- Varicella (อีสุกอีใส) ฉีด 2 เข็มโดยเข็มแรกต้องฉีดหลังอายุ 1 ขวบ หรือฉีด 3 เข็ม ทั้งนี้ หากเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนแล้ว สามารถเปลี่ยนมาแนบผลการเจาะเลือดยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกัน (Titer Lab) แทนได้
- Meningcoccal (ไข้กาฬหลังแอ่น) ฉีด 2 เข็ม เข็มแรกเมื่ออายุ 11 ปี อีกเข็มหลังอายุ 16 ปี พร้อมให้แพทย์ระบุว่าเป็น Menactra หรือ Menomune
- TB - Mantoux (ผลตรวจวัณโรค) จะต้องตรวจแบบ skin test เท่านั้นและตรวจภายใน 6 เดือนก่อนเข้าเรียน (หากเคยตรวจมานานแล้วต้องตรวจใหม่) หากทำ skin test แล้วบวมเกิน 10mm จะต้อง x-ray ปอดแล้วแนบผลการตรวจ
ควรฉีดวัคซีนให้ครบมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ วัคซีนที่ไม่ได้ฉีดตัวอื่น (เช่น วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นเข็มที่ 2) ให้ฉีดเพิ่มเติมเมื่อเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา การระบุวัน/เดือน/ปีที่ฉีดวัคซีน ต้องเป็นแบบ mm/dd/YYYY (เดือน/วัน/ปี ค.ศ.) เท่านั้น มิเช่นนั้นอาจจะต้องนำกลับไปให้ทางโรงพยาบาลเซ็นรับรองใหม่
ตัวอย่างการกรอก Immunization Record
การตรวจสุขภาพเพิ่มเติม
ส่วนนี้ผมไม่มั่นใจว่าจำเป็นแค่นักเรียนที่ต้องไปศึกษาต่อประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเดียว หรือเป็นทุกประเทศนะครับ รอฟังทาง ก.พ. แจ้งในวันปฐมนิเทศทุนอีกที
นอกจากตรวจสุขภาพกาย-สุขภาพจิตขั้นพื้นฐานแล้ว นักเรียนจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจทางทันตกรรม (ตรวจฟัน), ตรวจกระดูกสันหลัง และตรวจสุขภาพตา/ตรวจวัดสายตา โดยสามารถตรวจกับโรงพยาบาลรัฐบาลหรือเอกชนก็ได้
รายละเอียดการตรวจคร่าว ๆ มีดังนี้
- การตรวจสุขภาพฟัน ให้ตรวจตามปกติ (ตรวจหาฟันผุ, ตรวจสุขภาพเหงือก ฯลฯ) โดยในแบบฟอร์ม จะต้องมี Teeth Diagram ระบุประวัติการรักษาฟันแต่ละซี่
- การตรวจกระดูกสันหลัง ตรวจความคดโก่งของกระดูกสันหลัง ในใบรับรองแพทย์ ให้แพทย์ระบุความเห็นเพิ่มเติมว่าสามารถเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดการปะทะได้หรือไม่ (อาจจะระบุว่า “No restrictions for any sport activities.”)
- การตรวจสุขภาพตา/ตรวจวัดสายตา เน้นระบุค่าสายตาสั้น/ยาว/เอียง ตาบอดสี
ปี 2019 ทาง ก.พ. ไม่ได้เตรียมแบบฟอร์มไว้ให้ ให้ใช้แบบฟอร์มของทางโรงพยาบาลได้เลย คาดว่าโรงพยาบาลของคณะกรรมการแพทย์ของ ก.พ. ในกรุงเทพ (เช่น โรงพยาบาลศิริราช) น่าจะมีแบบฟอร์มอยู่แล้ว และสามารถแจ้งได้เลยว่า “ตรวจสุขภาพฟัน/กระดูกสันหลัง/ตาเพิ่มเติมของ ก.พ.”
ตัวอย่างการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมของ ก.พ.
สำหรับโรงพยาบาลอื่นที่ไม่มีแบบฟอร์มดังกล่าว ให้โรงพยาบาลออกใบรับรองแพทย์ (Medical Certificate) ตามระบบปกติของโรงพยาบาลได้เลย ทั้งนี้ ก่อนเข้ารับการตรวจ ควรตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลให้ดีว่าแบบฟอร์มของทางโรงพยาบาลมีเนื้อหาครบตามรายละเอียดย่อหน้าก่อนหน้าหรือไม่ หากไม่ครบ ให้ปรึกษาทางโรงพยาบาล เอาตัวอย่างของ ก.พ. ให้ดู ทางโรงพยาบาลอาจจะพิมพ์แบบฟอร์มใหม่ให้ (ในตัวอย่างเป็นภาษาไทย แต่ให้ย้ำทางโรงพยาบาลว่าต้องการเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น) ทั้งนี้ ขอใบรับรองแพทย์ตามแบบฟอร์มปกติของโรงพยาบาลมาเผื่อไว้ด้วย
การทดสอบภาษาอังกฤษ
ในการรับทุน ทางต้นสังกัดทุนและ ก.พ. จะต้องใช้ผลการทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อพิจารณาการให้ทุน และพิจารณาเลือกโรงเรียนให้ แต่ละประเทศจำเป็นต้องใช้ผลการสอบแตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกาใช้ TOEFL สหราชอาณาจักรใช้ IELTS เป็นต้น
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ให้สอบถามทางต้นสังกัดทุนหรือ ก.พ. ว่าจะใช้ผลคะแนน TOEFL iBT, PBT หรือ ITP แต่ว่าโดยปกติแล้วจะรับได้หมดทั้งสามแบบ ทั้งนี้ ในการสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัย จำเป็นจะต้องใช้ผล TOEFL iBT เท่านั้น ดังนั้น หากสอบ TOEFL iBT ไปเลยก็จะประหยัดเงินและเวลาที่สุด
การสมัครสอบ TOEFL iBT
การตรวจสอบรายการศูนย์สอนและวันที่จัดสอบสามารถทำได้ผ่านเว็บไซต์ของทาง ETS โดยตรง (ในกรุงเทพจะจัดสอบเดือนละประมาณ 3 ครั้ง ต่างจังหวัดจะจัดสอบเดือนละ 1-2 ครั้ง) โดยจะต้องสมัครก่อนวันสอบ 7 วัน หากสมัครช้ากว่านั้น จะต้องจ่าย Late Fee เพิ่ม โดยสามารถสมัครได้ช้าสุด 4 วันก่อนสอบ (ปี 2019 ค่าสมัครสอบในไทยอยู่ที่ $195 และ Late Fee อยู่ที่ $40)
ข้อสอบ admission (เตรียมสมัครมหาวิทยาลัย)
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะใช้คะแนน SAT หรือ ACT เพื่อพิจารณาเข้าเรียนต่อ หากสะดวก ควรสอบ SAT จากประเทศไทยเก็บไว้ก่อนอย่างน้อย 1 ครั้ง แล้วค่อยไปอัพคะแนนตอนอยู่ที่สหรัฐฯอีกครั้งก็ได้ (หากวางแผนจะสมัครมหาวิทยาลัยที่จำเป็นต้องใช้คะแนน SAT essay ควรเลือกสอบพาร์ท essay ไว้ด้วยเลย)
เนื่องจากว่าปีนี้ (2019) ทาง ก.พ. บังคับให้สอบ SAT ไว้ก่อนเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเป็นปีแรก เดาว่าปีถัด ๆ ไปก็น่าจะบังคับเช่นเดียวกันครับ
นอกจากนี้ หากวางแผนจะเข้ามหาวิทยาลัยที่จำเป็นต้องใช้คะแนน SAT Subject Tests ควรสอบ SAT Subject Tests จากประเทศไทย เพื่อจะได้มีเวลาว่างในการเรียนหรือเตรียมตัวสอบ SAT เพิ่มเติม โดยแนะนำให้สอบวิชาคณิตศาสตร์ (Mathematics Level 2) และสอบวิชาหมวดวิทยาศาสตร์อีก 1 ตัว (Physics, Chemistry, Biology E/M)
การสมัครสอบ SAT
สามารถสอบได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ CollegeBoard โดยตรง โดยจะต้องสมัครก่อนวันที่จัดสอบอย่างน้อย 1 เดือน ควรสมัครก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน เพราะมีศูนย์สอบเต็มเร็วมาก ในไทยส่วนใหญ่จะเปิดสอบแค่โรงเรียนนานาชาติเท่านั้น สามารถตรวจสอบศูนย์สอบได้ที่นี่
หากต้องการสอบ SAT และ SAT Subject Tests จะไม่สามารถสอบวันเดียวกันได้ จะต้องสมัครสองรอบ ใน 1 วันจะสอบ SAT Subject Tests ได้ไม่เกิน 3 วิชา
ค่าใช้จ่ายในการสอบ SAT ภายในปี 2019-20
รูปแบบการสอบ | ค่าใช้จ่าย | รวม |
---|---|---|
SAT | $49.50 (ค่าสมัครสอบ) + $53 (ค่าสอบในไทย) |
$102.50 |
SAT with Essay | $64.50 (ค่าสมัครสอบ) + $53 (ค่าสอบในไทย) |
$117.50 |
SAT Subject Tests | $26 (ค่าสมัครสอบ 1 วัน) + $53 (ค่าสอบในไทย) + $22 ต่อ 1 วิชา |
$101 (1 วิชา) $123 (2 วิชา) $145 (3 วิชา) |
International fees for SAT
International fees for SAT Subject Tests
ตารางสอบ SAT ภายในปี 2020
วันที่สอบ | SAT (with essay) | SAT Subject Tests | ปิดรับสมัครสอบ |
---|---|---|---|
March 14, 2020 | Yes | No | February 14, 2020 |
May 2, 2020 | Yes | Yes | April 3, 2020 |
June 6, 2020 | No | Yes | May 8, 2020 |
August 29, 2020 | Yes | Yes | ยังไม่ประกาศ |
October 3, 2020 | Yes | Yes | ยังไม่ประกาศ |
November 7, 2020 | Yes | Yes | ยังไม่ประกาศ |
December 5, 2020 | Yes | Yes | ยังไม่ประกาศ |
(วิชา Mathematics Level 1, Mathematics Level 2, Physics, Chemistry, Biology E/M เปิดให้สอบทุกรอบที่มีการสอบ SAT Subject Tests หากต้องการสอบวิชาอื่นให้ตรวจสอบในเว็บไซต์ของ CollegeBoard)
International deadlines for SAT
International deadlines for SAT Subject Tests
แบบสมัครเข้าเรียนต่อ (ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย)
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา การสมัครเข้าเรียน Summer Program และเรียนต่อ Prep School ทาง ก.พ. และสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนที่สหรัฐฯจะเป็นผู้เลือกสถานศึกษาให้ โดยเราจะต้องกรอกใบสมัคร Boarding School ทั่วไป (ในปี 2019 ทาง ก.พ. เลือกใช้แบบฟอร์มของ TABS) ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- General Application เป็นการกรอกข้อมูลพื้นฐานทั่วไป
- Application Questionnaire เป็นส่วนที่ผู้สมัครจะต้องตอบคำถามตามที่กำหนด โดยจะเน้นเกี่ยวกับการเรียน/การทำกิจกรรม/รางวัลที่ได้รับ และการเขียน essay เพื่อแสดงถึงความตั้งใจ/ลักษณะนิสัยใจคอ
- English, Math, Head/Principal/Counselor Recommendation เป็นส่วนที่คุณครูที่โรงเรียนจะเป็นผู้กรอกให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียน (ความรู้ความสามารถ ลักษณะนิสัย ความโดดเด่น)
นอกจากนี้ จะต้องส่งผลการเรียน (Transcript) ในระดับชั้นมัธยมศึกษา (ทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลาย) รวมถึงผลการทดสอบภาษาอังกฤษ (TOEFL/IELTS) ด้วย
- Transcript จะต้องระบุ GPA และระบุวันจบการศึกษา (Date of Graduation/Date of Leaving)
- กรณีที่โรงเรียนไม่สามารถออก Transcript ให้ทัน deadline ส่งเอกสารของ ก.พ. (เช่น ผล O-NET ยังไม่ออก) ให้ปรึกษากับทาง ก.พ. โดยตรง อาจจะต้องขอ Transcript แบบไม่ระบุผล O-NET ก่อน แล้วค่อยส่งฉบับสมบูรณ์ตามไปอีกครั้ง
สรุป
สำหรับนักเรียนที่ทราบล่วงหน้าว่าจะได้รับทุนรัฐบาลไทย แนะนำให้อ่านบทความนี้อย่างละเอียดเพื่อความพร้อมในการจัดการเอกสารต่าง ๆ (โดยเฉพาะเอกสารทางการแพทย์)
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้รุ่นน้องปีถัดไปได้ไม่มากก็น้อยครับ :)